ขนบธรรมเนียมเดิม ๆ ต่างกำลังถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระดานไวท์บอร์ดติดล้อเลื่อนจำนวนมากถูกดึงจนล้อฟรีไปทั่วบริเวณ และชาว Rioter อีกกว่า 160 ทีมจากออฟฟิศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ เรียกได้ว่า Thunderdome กำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง 

ที่ลอสแอนเจลิสแห่งนี้ มีหลายโปรเจกต์กำลังเกิดขึ้นพร้อมกัน ณ ห้องหนึ่งมีทีมที่กำลังผสมสีเพื่อแปลงโฉมให้กับฟิกเกอร์ 3 มิติของเกม 2XKO ขณะที่ห้องข้าง ๆ ก็กำลังคิดถึงระบบโลจิสติกส์ของเกมสบาย ๆ แนวร้านกาแฟ อีกทั้งยังมีทีมที่กำลังพัฒนาระบบภายในอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางด้านขวาก็เป็นอีกทีมที่กำลังทำส่วนขยายแบบใหม่ให้กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และก็ยังมีผู้พัฒนาอีกหลายคนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการแก้ไขรายละเอียดยิบย่อยที่กวนใจพวกเขามายาวนานหลายปีอีกด้วย 

“Thunderdome เป็นกิจกรรมแบบแฮกกาธอนในเวอร์ชันของเราเอง สำหรับในอุตสาหกรรมเกม บางคนก็อาจเรียกกิจกรรมนี้ว่าการแจมเกม” กล่าวโดย Eric “Riot Dankatron” Danker หัวหน้าทีมเทคโนโลยีของ Riot ผู้ริเริ่มไอเดียการจัดแฮกกาธอนรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน “แต่เมื่อเป็นการแจมเกมแล้ว ผลลัพธ์ที่ชัดเจนนั้นก็คือการสร้างเกม สำหรับ Thunderdome เราจึงพยายามทำให้มันเป็นอะไรที่ดูปลายเปิดมากขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะลงมือไปกับเกมหรือไอเดียเรื่องเกมก็ได้ ขณะที่คนอื่นก็อาจพยายามพัฒนาความไหลลื่นในเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่น เรื่องบัญชี เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือการทำให้ชีวิตของผู้อื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยโปรเจกต์ของคุณ อาจจะเป็นคุณภาพชีวิตของผู้เล่นหรือชาว Rioter คนอื่นก็ได้ คุณสามารถทำสิ่งใดที่คุณต้องการก็ได้ตราบที่คุณแสดงให้เห็นได้ว่าคุณจะไปให้ถึงในเป้าหมายที่ว่านั่นได้อย่างไร”
 

Rioter working during Thunderdome 2024


ในตอนที่เรานำเสนอไอเดียเรื่อง Thunderdome มันคือช่วงแรก ๆ ของการเปิด League และทุก ๆ คนก็ยุ่งมาก ๆ กับการปล่อยแชมเปี้ยนตัวแล้วตัวเล่า” Riot Dankatron กล่าวต่อ “เรามีนักวิศวกรบางคนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังบ้านบางส่วนได้เพราะพวกเขายุ่งเกินไปทุกวัน พวกเขาจะประมาณว่า ‘นี่ เดี๋ยวเราจะช่วยแฮกให้ตอนที่เราพักจะเบรกนะ’ แม้ว่านั่นจะเป็นเจตนาที่ดี แต่เหล่าผู้พัฒนาก็ไม่ควรที่จะต้องสละเวลาพักของพวกเขาเพื่อมาแก้ไขปัญหา ดังนั้นเราจึงอยากเห็นว่ามันจะเป็นยังไงหากเราตั้งใจทุ่มเวลาให้กับเรื่องแบบนี้กันทั้งบริษัท เราเสนอไอเดียนี้ในปี 2012 ซึ่งทั้ง Marc และ Brandon ต่างก็เซ็นรับรองในเรื่องนี้ ทั้งยังมีชาว Rioter อีกกว่า 150 ชีวิตที่ยอมใช้เวลากว่าสองวันครึ่งเพื่อที่จะแฮกไปกับเรื่องดังกล่าว” 

เรื่องนี้ได้เดินทางมาอย่างยาวนาน ซึ่งการจัดกิจกรรมของ Danker ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ Thunderdome ครั้งที่ 14 ในปีนี้นั่นเอง มีชาว Rioter มากกว่า 1500 ชีวิตจากออฟฟิศอีกกว่า 20 แห่งมารวมตัวกันจนเกิดเป็นทีม Thunderdome ซึ่งบางส่วนก็จัดทริปมากันถึงลอสแอนเจลิส และอีกส่วนก็มารวมตัวกันที่ฮับภูมิภาคอย่างที่ดับลินและสิงคโปร์ แต่คำถามที่ชวนให้สงสัยก็คือ ทำไมเราถึงทำเรื่องนี้?

เหตุผลการจัด Thunderdome

มันคือโอกาสในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังเป็นหนทางที่ยอดเยี่ยมในการปลดล็อกความสร้างสรรค์อีกด้วย บอกได้เลยว่ามันเป็นเรื่องของความสนุกล้วน ๆ ถ้าให้ลองถามคำถามนี้กับคนสิบคน คุณก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันไปสิบแบบ แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องจดเอาไว้ก็คือเหตุผลที่เราทำ Thunderdome นั้นไม่ได้ทำเพื่อส่งมอบอะไรใหม่ ๆ โดยตรงให้กับเกมของเรา ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ส่งมอบมันนะ แต่ว่า Thunderdome นั้นสามารถนำไปสู่เรื่องบางเรื่องที่เจ๋งแบบสุด ๆ ได้

ตัวอย่างของเรื่องที่โด่งดังมากที่สุดนั้นคือการเป็นพื้นที่พิสูจน์ให้เกิดเป็นแผนที่ Howling Abyss หรือเรียกอีกชื่อคือ ‘AM’ ในคำย่อ ARAM ทั้งยังเกิดเป็น สกินแชมเปี้ยนต่าง ๆ มินิเกม และสกินแผนที่ ซึ่งล้วนแล้วก็มีพื้นเพเดิมมาจากโปรเจกต์ของกิจกรรม Thunderdorm ทั้งสิ้น ถึงอย่างนั้น หากโฟกัสอย่างเดียวของเราคือการส่งมอบอะไรสักอย่างแล้วล่ะก็ มันจะเป็นการมองด้วยมุมมองที่คับแคบกับเกินไปจากสิ่งที่ Thunderdome เป็นอย่างแท้จริง

“ผลลัพธ์สุดท้ายของกิจกรรม Thunderdome นั้นเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ” Riot Dankatron กล่าว  “บางครั้งก็เป็นการทดลองที่สนุกมากแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเกิดเป็นคำถามว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้างกับกระบวนการดังกล่าว? ทั้งยังเกิดเป็นไอเดียที่เมื่อปล่อยออกมาก็แทบจะเหมือนกับที่คิดเอาไว้ และยังมีอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในท้ายที่สุด เพียงเพราะมีการจุดประกายไอเดียเพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งสิ่งนั้นได้รับการปรุงแต่งและกลายเป็นอย่างอื่นแทนในท้ายที่สุด”

นี่คือตัวอย่างเจ๋ง ๆ ที่เกิดขึ้น (เป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น) ย้อนไปเมื่อปี 2012 มีชาว Rioter บางส่วนเข้าร่วม Thunderdome เพื่อสร้างเกม 2 มิติแนวต่อสู้ด้วยแชมเปี้ยนของ League ซึ่งสี่ปีต่อมา Riot ก็ได้ Tom และ Tony Cannon จาก Radiant Entertainment เข้ามาร่วมงาน และได้ก่อตั้งเป็นรากฐานให้กับสิ่งที่สุดท้ายก็ได้กลายเป็น 2XKO

แล้วชาว Rioter บางส่วนที่ได้ทำงานกับเกมต่อสู้เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้จะได้กระโดดมาร่วมงานกับทีมที่ว่านี้หรือไม่? แล้วหัวหน้าในตอนนั้นหากได้เห็น Ahri มาโผล่ในเกมต่อสู้แบบนี้จะพูดว่า ‘เดี๋ยวนะ นี่เอาแบบนี้จริงดิ’ หรือเปล่า? แล้วน้องใหม่ที่ร่วมทีมกับ Riot August ที่ได้เห็นการนำเสนอของทีมจะคิดประมาณว่า ‘ให้ตายสิ ถ้าหากเรามีแชมเปี้ยนที่มีกลไกกำปั้นขนาดยักษ์จะเป็นยังไงนะ’ หรือไม่? ไม่มีใครตอบคำถามพวกนี้ได้ จริงไหม? ผมหมายถึง ก็ตอบได้แหละหากไปถามพวกเขา แต่มันก็เป็นแค่สมมติฐานล่ะนะ อย่าไปจริงจังอะไรกับมันจะดีกว่า โอเคนะ?

แต่ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว แม้สมมติฐานที่ว่าจะค่อนข้างชัดเจนตรงตัว ก็ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกาะติดความคิดสร้างสรรค์ และนั่นคือสิ่งที่ Thunderdome เป็น ซึ่งคือการจับความคิดสร้างสรรค์จากหมอกควันจาง ๆ แบบชิมเมอร์ แต่ไม่เอาแบบที่สูดแล้วมีเส้นเลือดสีม่วง ๆ ขึ้นที่คอนะ อันนี้ขอเลย เพราะงั้นอย่าลืมพักเอาแรงในช่วง 48 ชั่วโมงนี้กันด้วยล่ะ

“ความคิดสร้างสรรค์คือรากฐานสำคัญของ Riot” กล่าวโดย Ahmed Sidky จากทีมออกแบบหลักสูตรกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ระดับสูงซึ่งชาว Rioter ทุกคนจะได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ “ผมหวังว่า Thunderdome จะช่วยจุดไฟให้กับความปรารถนาในการสร้างสรรค์ได้อีกครั้ง และช่วยมอบพื้นที่ให้ผู้คนได้มีฝันและเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องจัด “เวิร์กช็อปแบบเต็มวัน” เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็ได้ เพียงแค่ได้พูดคุยกับชาว Rioter คนอื่น ๆ และสร้างไอเดียสักชิ้นก็สามารถปลดล็อกความสร้างสรรค์ได้มากมาย และนั่นคือหน้าที่หลักของ Thunderdome เราเริ่มต้นจากไอเดียและเราก็จะส่งมอบอะไรสักอย่างในอีก 48 ชั่วโมงต่อมา ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ คุณจะต้องคิดอย่างสร้างสรรค์” 

 


ในวันที่สามของ Thunderdome ซึ่งในทางเทคนิคก็คือ 51 ชั่วโมงเมื่อดวงไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียว การนำเสนอจะเริ่มขึ้น เราเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็นงานแฟร์วันวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเหมือนกันเป๊ะ ๆ กับภาพที่คุณจินตนาการไว้ แค่จะไม่มีเบกกิ้งโซดากับภูเขาไฟเฉย ๆ โดยทีมต่าง ๆ จะวนอยู่กับไวท์บอร์ดและจอคอมพิวเตอร์ของพวกเขาซึ่งใช้เป็นตัวนำเสนอสิ่งที่พวกเขาลงทุนลงแรงกันมาตลอดสองวันที่ผ่านมา พวกเขาจะนำเสนอทั้งความสำเร็จ อุปสรรค และสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้ชาว Rioter คนอื่น ๆ ได้รับฟังกัน

ในปีนี้เราได้มีการมอบรางวัลเพื่อเฉลิมฉลองให้กับความสร้างสรรค์ ความหลงใหล และความมุ่งมั่นที่ทีมต่าง ๆ ได้แสดงออกมาตลอดทั้งอีเวนต์กันอีกด้วย 
 


ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถแชร์ข้อมูลสุดเฉพาะของโปรเจกต์มากมายที่เราได้ทำกันในปีนี้ได้ แต่ก็ขอให้ทราบกันไว้ว่าโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่คุณจะได้เห็นในปีที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจเป็นอะไรที่มาจากไอเดียที่เราได้สร้างสรรค์กันไปเมื่อ 48 ชั่วโมงที่ผ่านมาก็ได้นะ และสุดท้ายนี้ หากคุณมีโอกาสได้มาที่สำนักงานของ Riot และได้มีโอกาสเล่นเกม POP/STARS กับเครื่อง DDR ที่อยู่ในสำนักงานของเราแล้วล่ะก็ คุณจะรู้ได้เลยว่าทีมงานของเราใช้เวลา 48 ชั่วโมงไปอย่างคุ้มค่ามากแค่ไหน