ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก Kat Wong ก็วาดฝันอยากทำงานในแวดวงวิดีโอเกมมาโดยตลอด แต่ด้วยพื้นเพบ้านเกิดในฮาวายและการเป็นชาวเมาลี (ชาวพื้นเมืองฮาวาย) ที่นั่นบริษัททำวิดีโอเกมและพัฒนาเกมบนพื้นที่ธุรกิจบนเกาะนั้นจึงมีน้อยมาก 

“ฉันรู้มาตั้งแต่อยู่เกรดสี่แล้วว่าฉันอยากทำงานด้านวิดีโอเกม” Kat ผู้จัดการฝ่ายโปรแกรมในทีมปรับเนื้อหาท้องถิ่น (Localization) ของ Riot กล่าว “ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 80 ตอนที่ NES เพิ่งปล่อยเกม Tetris ออกมาหมาด ๆ ฉันยังจำที่พ่อแม่พูดได้เลยว่า ‘วิดีโอเกมเหรอ? มันทำเงินไม่ได้หรอก’ ตอนนั้นมันเจ็บนะ แต่ฉันก็มุ่งมั่นว่าจะต้องเข้าสู่วงการวิดีโอเกมให้ได้” 

เธอจึงออกไปเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อไล่ตามความฝัน 

“ฉันเริ่มจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วก็มารู้ว่าการเขียนโค้ดมันไม่ใช่ทางของฉันเลย” Kat เล่าต่อ “ในตอนนั้น เวลาอ่านนิตยสารเกี่ยวกับเกมและตำแหน่งงานที่มีในวงการวิดีโอเกม พวกเขาก็เอาแต่พูดว่าวิศวกรอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนั้นฝันของฉันแทบจะค่อย ๆ สลายไปเลยล่ะ แต่จากข้อมูลที่หามา ฉันก็รู้ดีว่าฉันต้องคว้าใบปริญญามาให้ได้เพื่อให้บริษัทเกมที่มีศักยภาพยอมรับว่าฉันเป็นผู้สมัครที่มีโอกาสคนหนึ่ง ฉันจึงเปลี่ยนไปเรียน IT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) เพื่อเรียนให้จบ ตอนที่กำลังเรียนอยู่ ฉันก็ได้รู้ว่าฉันชอบทำงานกับผู้คน และฉันก็รู้สึกว่ามันต้องมีคนคอยช่วยจัดการวิศวกรเหล่านั้น ช่วยเสริมกำลังใจ และช่วยให้ทุกคนได้มาทำงานร่วมกัน” 

ในขณะที่ทำงานไปเรื่อย ๆ เพื่อค้นหาจุดยืนของตัวเองในวงการวิดีโอเกมที่กำลังจะเติบโตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมกระแสหลัก เธอก็ได้พบกับภรรยาในอนาคตอย่าง Bonnie ปรากฏว่า Bonnie ได้รับเชิญไปงานอีเวนต์เกี่ยวกับวิดีโอเกมในมหาวิทยาลัย และด้วยความบังเอิญ เธอจึงไม่สามารถไปร่วมงานได้พอดี

 

kat-wong-bon-christmas-photo

 

“เธอจึงบอกกับฉันว่า ‘ฉันไปไม่ได้ เธอไปแทนสิ’” Kat ยังจำได้ดี “ที่ฮาวายแทบจะไม่มีบริษัททำเกมเลย ตอนนั้นมีอยู่แค่ที่เดียวคือ Tetris ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ทำการบรรยายครั้งนี้และกำลังหาคนมาร่วมงานด้วยกัน นาอาวของฉัน (สัญชาตญาณหรือความรู้สึกลึก ๆ) มันบอกว่าฉันควรจะปรินต์เรซูเม่ของตัวเองไปเข้างานด้วย หลังผ่านการบรรยายไป ฉันก็ไปตรงจุดที่พวกเขารวมตัวกัน ฉันไปนั่งข้าง ๆ ผู้ชายคนหนึ่งที่ฉันมารู้ทีหลังว่าเขาคือวิศวกร เขาดูชิลมาก แล้วเราก็ได้คุยกัน ฉันบอกเขาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดเปลี่ยนชีวิตได้ ฉันจะเล่น Tetris เพื่อช่วยทำให้ฉันใจเย็นลง กลายเป็นว่าฉันไปนั่งคุยกับผู้ก่อตั้งบริษัท Tetris เสียอย่างงั้น พุ่งตรงไปจุดเริ่มต้นเลยทีเดียว” 

สิ่งหนึ่งนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง และหลังจากนั้น Kat ก็ได้รับข้อเสนองานแรกในวงการวิดีโอเกมในฐานะนักตรวจสอบคุณภาพ (QA Tester) บทสนทนาง่าย ๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพการทำงานกว่า 15 ปี เริ่มจากการเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ปล่อยตัว Tetris บน iPod ก่อนจะไปต่อในหลายอุตสาหกรรม จนนำมาสู่ตำแหน่งปัจจุบันที่ Riot ในที่สุด ซึ่งตลอดเวลานั้น ภรรยาของเธอก็จะคอยอยู่เคียงข้างมาโดยเสมอ 

“เราเจอกันผ่านแชท Yahoo และ IRC” Kat จำได้ “การจะแลกภาพกันได้เนี่ย ฉันต้องไปถ่ายรูปจากกล้องถ่ายแล้วใช้ครั้งเดียว จากนั้นก็เอามันไปล้างรูปที่ Costco เพื่อที่จะส่งรูปผ่านจดหมายไป เพราะงั้นกว่าเธอจะได้รูปก็อาทิตย์หนึ่ง แล้วฉันจะบอกอะไรให้ มันเป็นอะไรที่ลนมาก” 

 

kat-wong-bon-lv-aquarium

 

แต่สุดท้ายก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรต้องกังวล Bonnie เองก็มาจากฮาวาย แต่ตอนนั้นเธออาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียในตอนที่ Kat ยังอยู่บนเกาะ เมื่อความสัมพันธ์พัฒนาขึ้น Bonnie ก็ตัดสินใจย้ายกลับมายังฮาวายเพื่อมาอยู่กับ Kat เธอสนับสนุนให้ Kat กลับไปเรียนและไล่ตามความฝันในการทำงานวงการเกมต่อ สุดท้ายมันก็นำไปสู่งานรวมตัวครั้งสำคัญครั้งนั้น แม้ว่า Kat จะรู้ดีว่าตัวเองใฝ่ฝันอยากทำงานในวงการเกม แต่การผจญภัยหลายปีที่ผันผ่านก็มีปัญหาเข้ามามากมายเช่นกัน 

“ปัญหาต่าง ๆ มันไม่เคยง่าย และการเรียนรู้ที่จะผ่านมันไปให้ได้ก็เป็นเรื่องท้าทาย แต่ฉันก็ได้เรียนรู้ที่จะใช้มันเพื่อเป็นขั้นบันไดที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายของตัวเอง” Kat กล่าว 

“ก่อนมาที่ Riot ฉันต้องแอบเงียบเรื่องภรรยาตอนอยู่ในที่ทำงาน แบบเก็บเงียบเลยแหละ” เธอว่าต่อ “คนก็จะถามว่า ‘แฟนหนุ่มของเธออยู่ไหนเนี่ย?’ แล้วฉันก็จะบอกว่า ‘เขาอยู่บ้าน’ Bonnie เองก็อยู่ด้วย แต่ฉันบอกไปว่าเธอเป็นแค่เพื่อนร่วมห้อง และฉันก็ปล่อยให้มันเป็นงั้นไป เพราะกลัวว่าจะมีใครมารู้เรื่องเข้า และฉันก็อาจจะถูกตัดสิน และอาจจะต้องออกจากงาน พอฉันมาที่ Riot ก็ได้เห็นว่าทุกคนนั้นยอมรับในตัวตนของคนอื่น ๆ ทีมของฉันสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา นี่เลยเป็นโอกาสให้ฉันได้ออกมาเปิดเผยและพูดออกมาว่า ‘นี่ ฉันมีภรรยาแล้วนะ ฉันอยากแนะนำเธอให้ทุกคนรู้จัก เราอยู่ด้วยกันมากว่า 20 ปีแล้ว’” 

Kat ทำงานที่ Riot มามากกว่าสามปีแล้ว ก่อนเธอจะมาเข้าที่นี่ เธอเคยไม่มั่นใจว่าอยากทำงานในวงการเกมต่อไปหรือไม่ หลังจากพบประสบการณ์เลวร้ายจากบริษัทที่ผ่าน ๆ มา ตอนที่เธอกำลังหาข้อมูลเรื่องงานที่ Riot เธอก็อยากมั่นใจว่ามันจะไม่กลายเป็นประสบการณ์แย่ ๆ อีกครั้งไป 

“ฉันลังเลนะ ก็เลยไปหาข้อมูลมา ฉันนั่งอ่านบทความใน Kotaku เกี่ยวกับ Riot” Kat กล่าว “พอไปคุยกับ Bonnie เธอก็หาข้อมูลมาเหมือนกัน ฉันบอกว่า ‘ฉันรู้จักคนสองคนที่ทำงานที่ Riot ทั้งก่อนหน้าและในช่วงนั้น พวกเขายังอยู่ที่ Riot แล้วก็กำลังทำในสิ่งที่วิเศษอยู่’ แล้ว Bonnie ก็ตอบว่า ‘เยี่ยมเลย แต่เธอล่ะรู้สึกยังไง?’ ฉันพูดไปว่า ‘นาอาวของฉันบอกว่าพวกเขากำลังเรียนรู้และกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไข’” 

หลังผ่านไปหลายปี Kat ก็ดีใจที่เธอเชื่อในนาอาวของตัวเองในวันนั้น

 

kat-wong-bon-ka

 

“ไม่นานมานี้ฉันเพิ่งได้คุยกับเพื่อนร่วมงานเก่า ๆ” Kat ว่าต่อ “ฉันบอกไปว่า ‘จำตอนนั้นที่เรากินข้าวกลางวันด้วยกันแล้วหวังว่าเราจะได้ทำงานที่เขาเห็นค่าความสามารถเรา รับฟังเราบ้าง และยอมให้เราลองอะไรใหม่ ๆ ได้ไหม? เนี่ย ตอนนี้ฉันทำงานในที่แบบนั้นอยู่ล่ะ’ คนอาจจะบอกว่า ‘อ๋า Kat โดนล้างสมองไปแล้ว’ แต่มันเป็นเพราะคนในทีมเลย เป็นคนในทีมฉันนี่ล่ะที่ทำให้ฉันสามารถเป็นตัวของตัวเองได้จริง ๆ และฉันก็ตั้งใจทำงานแบบ 120% เป็นการตอบแทน สิ่งนี้เกิดจากการที่ Riot อนุญาตให้ผู้จัดการของเราสามารถมอบอิสระให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่”

ทีมปรับเนื้อหาท้องถิ่นของ Kat มีหน้าที่แปล/ทดสอบเนื้อหาทั้งหมด (โปรเจกต์/ประกาศ/อีสปอร์ต/ความบันเทิง/อื่น ๆ) ให้กลายเป็นภาษาอื่น ๆ กว่า 20 ภาษาเพื่อผู้เล่นทั่วโลก แต่มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนประโยคหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งแค่นั้น การปรับเนื้อหาท้องถิ่นนั้นถือเป็นส่วนสำคัญภายในเกมของ Riot และทีมนี้ก็มีหน้าที่ทำให้มั่นใจว่าเนื้อหาของเราจะสะท้อนถึงวัฒนธรรม คำนึงถึงความอ่อนไหวในท้องถิ่น และสื่อสารได้ตรงเป้าสำหรับผู้เล่นทั่วโลก

“Riot มีออฟฟิศอยู่รอบโลก โดยมีเป้าหมายคือการเป็นบริษัทระดับโลกอย่างแท้จริง และการปรับเนื้อหาท้องถิ่นก็เป็นงานสำคัญในส่วนนั้น” Kat กล่าว “การนำผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเนื้อหาท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งแต่เนิ่น ๆ และการทำให้มั่นใจว่าทุกภูมิภาคจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งหลายถือเป็นส่วนสำคัญในการเป็นบริษัทระดับโลก รวมไปถึงกลุ่ม RIG (กลุ่มส่งเสริมความแตกต่าง) ที่จะเข้ามาทำให้มั่นใจว่าจะมีการคิดถึงมุมมองที่หลากหลายเวลาทำการตัดสินใจต่าง ๆ ด้วย”

นอกจากการปรับเนื้อหาท้องถิ่นแล้ว Kat ก็ยังกลายเป็นคนสำคัญใน RIG ของเราด้วย ตอนนี้เรามีอยู่ทั้งหมดเจ็ดกลุ่ม และ Kat ก็เป็นสมาชิกของทุกกลุ่มเลย RIG ถูกออกแบบมาเพื่อนำกลุ่มคนต่าง ๆ มารวมกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มักจะถูกมองข้ามในวงการเกม ภายในกลุ่มจะมีการแบ่งปันประสบการณ์ จัดอีเวนต์ และสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมา พวกเขายังใช้ความเชี่ยวชาญส่วนตัวมาช่วยในงานอย่างการออกแบบตัวละคร หากแชมเปี้ยนหรือเอเจนท์ตัวนั้น ๆ เป็นตัวแทนสะท้อนถึงคอมมูนิตี้เฉพาะใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น Riot Noir ซึ่งเป็น RIG สำหรับกลุ่มพนักงาน Riot ผิวสีก็ได้เข้ามาช่วยทำให้มั่นใจว่า K’Sante จะเป็นตัวละครที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของแอฟริกาตะวันตกได้อย่างถูกต้อง

“ฉันเข้าร่วม RIG ทุกกลุ่มก็เพราะมันสะท้อนถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ของฉัน ฉันเรียนรู้จากแต่ละกลุ่มได้ หรือให้ฉันคอยสนับสนุนพวกเขาก็ยังได้ บางครั้งฉันก็ทำทั้งสามอย่างพร้อมกันไปเลย” Kat กล่าว “RIG ยังช่วยให้ฉันมีคูเลอาน่าด้วย (ความรับผิดชอบ) ฉันรู้สึกว่ามันเป็นคูเลอาน่าของฉันในการช่วยนำทางวงการเกมและวงการสิ่งบันเทิงให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ฉันหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวเมาลีและพอลินีเชีย บอกกับพวกเขาว่าอุตสาหกรรมเกมและสิ่งบันเทิงพร้อมรับฟังเรื่องราวของพวกเราแล้ว และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารที่ยอดเยี่ยมมากเลย หากร่วมมือกันแล้ว เราก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นสถานที่ที่ดีกว่าสำหรับคนชายขอบได้”


"Rainbow Rioters เจอเลนของพวกเขาแล้ว" คือซีรีส์ที่สร้างขึ้นโดย Rainbow Rioters ซึ่งเป็น RIG สำหรับพนักงาน Riot ชาว LGBTQ+ ของเรา ซีรีส์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อพูดถึงเรื่องดีและร้ายซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างเส้นทางการทำงานที่ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ โดยเฉพาะการทำงานที่พัฒนาไปพร้อม กับอัตลักษณ์ส่วนบุคคล อย่าลืมเข้าไปอ่านซีรีส์นี้ตอนอื่น ของทั้ง Patrick Ryan และ Maria Pentinen กันด้วยล่ะ